หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา (ท.จ.) (4 ธันวาคม พ.ศ. 2422-20 ตุลาคม พ.ศ. 2481 ) มีนามเดิมว่า อาชญานางเจียงคำ สกุลเดิม บุตโรบล เป็นเจ้านายสตรีของเมืองอุบลราชธานีซึ่งเป็นเมืองประเทศราชของราชอาณาสยามมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ที่ถวายตัวเป็นหม่อมใน พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระราชโอรสองค์ที่ 11 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และองค์ที่ 3 ในเจ้าจอมมารดาพึ่ง เพื่อเป็นการกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างราชสำนักสยาม กับเจ้านายพื้นถิ่นเมืองอุบลราชธานีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในช่วงที่มีนโยบายปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)
หม่อมเจียงคำ เกิดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2422 ที่เมืองอุบลราชธานี เป็นธิดาลำดับที่ 9 หรือเป็นธิดาท่านสุดท้องของท้าวสุรินทรชมภู (หมั้น บุตโรบล) กับอาชญาแม่ดวงจันทร์ บุตโรบล หม่อมเจียงคำมีศักดิ์เป็นพระนัดดา (หลานปู่) ในเจ้าราชบุตร (สุ่ย บุตโรบล) เจ้าเมืองอุบลราชธานีองค์ที่ 3 (บรรดาศักดิ์เดิมที่ ท้าวสุริยะ) กับอาชญาแม่ทอง บุตโรบล มีศักดิ์เป็นพระปนัดดา (เหลนทวด) ในท้าวสีหาราช (พูลสุข หรือ พลสุข) กรมการเมืองอุบลราชธานีชั้นผู้ใหญ่ กับอาชญาแม่สุภา มีศักดิ์เป็นพระปทินัดดาในท้าวโคต ผู้เป็นพระราชโอรสในเจ้าพระตา (เจ้าพระวรราชปิตา) ผู้ครองนครเขื่อนขันฑ์กาบแก้วบัวบาน (จังหวัดหนองบัวลำภูในปัจจุบัน) นอกจากนี้ ท้าวโคตผู้เป็นต้นสกุล บุตโรบล ยังมีศักดิ์เป็นพระราชอนุชาร่วมพระราชบิดาพระราชมารดาเดียวกันกับเจ้าพระปทุมวรราชสุริยวงษ์ (คำผง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีศรีวนาไลยประเทษราชองค์ที่ 1 กับเจ้าพระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราช (ฝ่ายหน้า) เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ (เมืองเก่าคันเกิง) องค์ที่ 3 ด้วย
อนึ่ง หม่อมเจียงคำสืบเชื้อสายจากราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันทน์ ผ่านทางพระชายาของเจ้าปางคำ เจ้าเมืองหนองบัวลุ่มภู (ผู้เป็นพระราชบิดาของเจ้าพระตาและเจ้าพระวอ) พระชายาองค์นี้มีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชแห่งนครเวียงจันทน์ อีกทั้งหม่อมเจียงคำยังสืบเชื้อสายจากราชวงศ์เชียงรุ้งแสนหวีฟ้าผ่านทางเจ้าปางคำ เจ้าเมืองหนองบัวลุ่มภู ผู้เป็นพระราชโอรสของเจ้านครเชียงรุ้ง และเป็นพระอนุชาในเจ้าอินทกุมารกับเจ้านางจันทกุมารี นอกจากนี้ หม่อมเจียงคำยังเป็นหลานตาและหลานยายของพระศรีโสภากับนางทุมมา พระศรีโสภาผู้เป็นตานั้นเป็นชาวจีนดำรงตำแหน่งนายอากรบ่อนเบี้ยเมืองอุบลราชธานี ปฐมบรรพบุรุษและเครือญาติทั้งหมดของหม่อมเจียงคำ ได้เคยเป็นผู้ปกครองหัวเมืองใหญ่น้อยตั้งแต่สมัยราชอาณาจักรล้านช้างจนเปลี่ยนแปลงการปกครองมาทั้งหมดนับได้ 19 หัวเมือง ได้แก่ เมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า เมืองหนองบัวลุ่มภู (เมืองหนองบัวลำภู) เมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (เมืองจำปานครกาบแก้ว) เมืองอุบลราชธานี เมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองนครพนม เมืองดอนมดแดง (บ้านดอนมดแดง) เมืองยศสุนทร (เมืองยโสธร) เมืองเขมราฐธานี เมืองหนองคาย เมืองอำนาจเจริญ เมืองวารินชำราบ เมืองพิมูลมังษาหาร (เมืองพิบูลมังสาหาร) เมืองตระการพืชผล เมืองมหาชนะชัย เมืองเสลภูมิ เมืองพนานิคม เมืองเกษมสีมา และเวียงฆ้อนกลองหรือเวียงดอนกอง (บ้านดู่บ้านแก)
เกี่ยวกับนามของหม่อมเจียงคำนั้น คำว่า เจียง เป็นภาษาลาวโบราณ ตรงกับภาษาบาลีว่า จาป หมายถึง ธนู ศร หน้าไม้ กระสุน แล่ง (ที่ทำสำหรับวางลูกธนูหรือหน้าไม้ หรือที่ใส่ลูกธนูหน้าไม้สำหรับสะพาย) บางครั้งชาวลาวเรียกว่า หน้าเจียง หรือ เกียง ดังนั้น นามของหม่อมเจียงคำจึงหมายถึง ธนูทองคำ หม่อมเจียงคำ เดิมสกุล บุตโรบล นามสกุลบุตโรบลเป็นนามสกุลที่ทายาทบุตรหลานเจ้านายเมืองอุบลราชธานีได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) นามสกุลเลขที่ 2692 เขียนแบบอักษรโรมันคือ Putropala ผู้ได้รับพระราชทานนามสกุลคือ นายร้อยโท พระอุบลกิจประชากร (บุญเพ็ง) นายทหารกองหนุน สังกัดกองสัสดีมณฑลอุบล และผู้ช่วยราชการเมืองอุบลราชธานี บิดาชื่อเจ้าราชบุตร (หนูคำ) ว่าที่เจ้าเมืองอุบลราชธานีองค์ที่ 6 ปู่ชื่อเจ้าราชบุตร (สุ่ย) เจ้าเมืองอุบลราชธานีองค์ที่ 3 หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา และนายร้อยโท พระอุบลกิจประชากร (บุญเพ็ง) เป็นลูกพี่ลูกน้องกันและทั้ง 2 ท่านเป็นพระนัดดา (หลานปู่) ในเจ้าราชบุตร (สุ่ย) เจ้าเมืองอุบลราชธานีองค์ที่ 3 นายร้อยโท พระอุบลกิจประชากร (บุญเพ็ง) นั้นสมรสกับเจ้าเฮือนทองพันธ์ ณ จำปาศักดิ์ พระราชธิดาในเสด็จเจ้ายั้งขะหม่อมยุติธรรมธรนครจำปาศักดิ์รักษาประชาธิบดี (คำสุก ณ จำปาศักดิ์) เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์องค์ที่ 12 กับพระชายาโซ้นพิมพ์
พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เมื่อเสด็จมาปรับปรุงและจัดระบบราชการที่เมืองอุบลราชธานี ได้ทรงพอพระทัยต่ออาชญานางเจียงคำ ซึ่งเป็นธิดาของท้าวสุรินทรชมภู (หมั้น) กรมการชั้นผู้ใหญ่ของเมือง จึงได้ทรงขออาชญานางเจียงคำ ต่อเจ้านายผู้ใหญ่ในเมืองอุบลราชธานี คือ พระอุบลศักดิ์ประชาบาล (กุคำ สุวรรณกูฏ) พระอุบลการประชานิตย์ (บุญชู พรหมวงศานนท์) และได้เข้าพิธีบายศรีสู่ขวัญตามจารีตประเพณีของบ้านเมืองลาวดั้งเดิม ถวายตัวเป็นหม่อมห้ามใน พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระราชโอรสองค์ที่ 11 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ 3 ใน เจ้าจอมมารดาพึ่ง เมื่อเดือนมีนาคม ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ต่อมาได้ให้กำเนิดพระโอรส 2 พระองค์
การถวายตัวเป็นหม่อมห้ามของเสด็จในกรมนั้น เท่ากับเป็นการสร้างการยอมรับอำนาจการปกครองจากส่วนกลางในหมู่เจ้านายเมืองอุบลราชธานีมากขึ้น และยังทำให้เจ้านายพื้นเมืองบางส่วนขยับฐานะตนเองจากการเป็นเจ้านายในราชวงศ์สายล้านช้างอันเก่าแก่ มาเป็นส่วนหนึ่งในพระราชวงศ์จักรีของสยาม โดยระหว่างที่เสด็จในกรมทรงประทับอยู่ที่เมืองอุบลราชธานีนั้น ได้ทรงสร้างตำหนักชื่อว่า วังสงัด ขึ้นบนที่ดินของท้าวสุรินทรชมภู (หมั้น บุตโรบล) เมื่อ ร.ศ.112 และทรงประทับอยู่กับหม่อมเจียงคำเป็นเวลานาน 17 ปี ก่อนที่จะนิวัติคืนสู่กรุงเทพมหานคร จนกระทั่งสิ้นพระชนม์
หลังการสิ้นพระชนม์ของพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ หม่อมเจียงคำและหม่อมเจ้าชายทั้ง 2 พระองค์ ผู้เป็นบุตร ได้อุทิศที่ดินจำนวน 27 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินอันเป็นมรดกตกทอดของพระญาติวงศ์เจ้านายเมืองอุบลราชธานีในดีต ได้แก่ ที่ดินของเจ้าราชบุตร์ (สุ่ย บุตโรบล) ที่ดินของพระอุบลศักดิ์ประชาบาล (กุคำ สุวรรณกูฏ) ที่ดินของพระลินจังคุลาทร (พั้ว บุตโรบล) ที่ดินของพระบริคุตคามเขต (โหง่นคำ สุวรรณกูฏ) ที่ดินของพระวิภาคย์พจนกิจ (เล็ก สิงหัษฐิต) ที่ดินของเจ้าอุปฮาต (โท ณ อุบล) ที่ดินของพระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ ณ อุบล) ไว้ให้เป็นสาธารณประโยชน์แก่แผ่นดิน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2474 ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการที่สำคัญในจังหวัดอุบลราชธานีหลายแห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี เทศบาลนครอุบลราชธานี ทุ่งศรีเมือง (อดีตสถานที่ถวายเพลิงพระศพเจ้าเมืองและพระราชทานเพลิงเจ้านายเมืองอุบลราชธานี) โรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี ศาลจังหวัดอุบลราชธานี ที่ว่าการอำเภอเมืองอุบลราชธานี ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี (เดิมเป็นที่ตั้งโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช) และโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์
หม่อมเจียงคำ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคอัมพาต เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2481 สิริอายุ 59 ปี ณ โฮงพระวิภาคย์พจนกิจ (เล็ก สิงหัษฐิต) เลขานุการในพระองค์กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ผู้เป็นญาติใกล้ชิดของหม่อมเจียงคำ ซึ่งตั้งอยู่ ณ ถนนพิชิตรังสรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันทายาทได้นำพระอัฐิของท่านบรรจุไว้ ณ บริเวณฐานตั้งใบเสมาหน้าพระอุโบสถ วัดสุทัศนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นวัดที่เจ้าราชบุตร (สุ่ย บุตโรบล) ผู้เป็นพระอัยกาและพระญาติวงศ์เมืองอุบลราชธานี ได้ร่วมกันสร้างไว้ตั้งแต่ครั้ง พ.ศ. 2396 ก่อนที่เจ้าราชบุตร (สุ่ย บุตโรบล) จะไปราชการศึกสงครามเมืองญวนที่ประเทศเขมร
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/หม่อมเจียงคำ_ชุมพล_ณ_อยุธยา